Lvov, Gregory Yevgenyevich (1861-1925)

เจ้าชายเกรกอรี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (๒๔๐๔-๒๔๖๘)

​​​     เจ้าชายเกรกอรี เยฟเกเนียวิช ลวอฟทรงเป็นนักการเมืองพระองค์สำคัญของรัสเซีย สังกัดพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Democratic Party) หรือพรรคคาเดตส์ (Kadets) และ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของคณะรัฐบาลเฉพาะกาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ทรงมีบทบาทสำคัญใน สภาดูมา (Duma)* สมัยที่ ๔ ในการผลักดันนโยบายปฏิรูปสังคมและระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเซมสตโว (zemstvo) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เจ้าชายลวอฟทรงจัดตั้งองค์การสาธารณกุศลช่วยเหลือทหารและพลเรือนที่บาดเจ็บตลอดจนจัดหาเสบียงอาหารให้แก่กองทัพ บทบาทดังกล่าวทำให้นักการเมืองเสรีนิยมและผู้นำกองทัพสนับสนุนให้ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาล หลังเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affairs)* ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลไม่เป็นที่นิยมของประชาชนเพราะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและการดำเนินนโยบายสงครามร่วมกับประเทศมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* เจ้าชายลวอฟจึงทรงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ยึดอำนาจทางการเมืองได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ เจ้าชายลวอฟทรงถูกจับคุมขังระยะหนึ่ง แต่ต่อมาทรงสามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้
     เจ้าชายลวอฟทรงเป็นทายาทคนเดียวของในตระกูลขุนนางเก่าที่เมืองทูลา (Tula) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ ระหว่างทรงศึกษาที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอสโก พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องการจัดระเบียบการปกครองและการกระจายอำนาจทางการเมืองจากส่วนกลาง ซึ่งในเวลาต่อมาได้เอื้อประโยชน์ให้แก่พระองค์ก้าวสู่วงอำนาจทางการเมืองได้ หลังสำเร็จการศึกษา เจ้าชายลวอฟทรงเข้ารับราชการขณะเดียวกันก็ทรงดูแลทรัพย์สินและที่ดินของตระกูลอย่างใส่พระทัยจนสามารถสร้างฐานะให้มั่งคั่งมากยิ่งขึ้นในช่วงทำราชการ เจ้าชายลวอฟยังทรงสนพระทัยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรียกร้องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้แก่ท้องถิ่น ชาติตระกูลและบุคลิกภาพความเป็นผู้นำเปิดโอกาสให้พระองค์ทรงได้รับเลือกเป็นประธานสภาการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทูลา (Tula Zemstvo) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๘๙๓ พระองค์ทรงใช้นโยบายสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับบุคคลทุกชนชั้น และทรงให้อำนาจการตัดสินใจและการกำหนดนโยบายแก่หน่วยงานระดับต่าง ๆ นโยบายบริหารปกครองดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่และยอมรับกันทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ พระองค์ทรงลาออกจากราชการเพื่อดูแลธุรกิจของตระกูลและทุ่มเทตนให้กับงานส่วนท้องถิ่น
     ในระหว่างสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo- Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* เจ้าชายลวอฟทรงใช้ความสัมพันธ์กับราชสำนักโน้มน้าวให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทรงอนุญาตให้จัดตั้งหน่วยอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ในตะวันออก (Volunteer Relief in the Orient) ขึ้น พระองค์ทรงสามารถรวบรวมอาสาสมัครท้องถิ่นรวม ๑๔ หน่วยเดินทางไปช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บและล้มป่วยในแนวรบรวมทั้งจัดหาอาหารและ เวชภัณฑ์ให้แก่กองทัพ บทบาทดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับกันในสังคมมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ทรงได้รับเลือกเป็นผู้แทนของเซมสตโวไปกราบทูลซาร์นิโคลัสที่ ๒ เพื่อขออนุญาตจัดประชุมใหญ่เซมสตโวทั่วรัสเซีย (All-Russian Zemstvo Congress) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ต่อมาเมื่อปัญญาชนกลุ่มต่าง ๆ เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ กลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมซึ่งมีปาเวล มิลยูคอฟ (Pavel Milyukov) ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์หัวก้าวหน้าเป็นผู้นำได้จัดตั้งพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น มิลยูคอฟได้ชักชวนเจ้าชายลวอฟให้ทรงเข้าเป็นสมาชิก เจ้าชายลวอฟทรงเห็นด้วยกับนโยบายพรรคในการสนับสนุนระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก และทรงได้รับเลือกเป็นผู้แทนพรรคเขตทูลาในสภาดูมาสมัยแรก พระองค์ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใน คณะรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นด้วย แต่ไม่ได้รับเลือก ในสภาดูมาสมัยที่ ๒ และสมัยที่ ๓ เจ้าชายลวอฟทรงเป็นสมาชิกสภาที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายปฏิรูปทางสังคมและการศึกษา ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ทรงได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีแห่งมอสโก แต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพราะรัฐบาลประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๗ เจ้าชายลวอฟทรงเป็นประธานสหภาพแห่งเซมสตโวทั่วรัสเซีย (All- Russian Union of Zemstvos) และทรงผลักดันให้มีการจัดตั้งเซมสตโวขึ้นทั่วประเทศรวมกว่า ๘,๐๐๐ แห่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ เจ้าชายลวอฟทรงขอพระบรมราชานุญาตจากซาร์นิโคลัสที่ ๒ จัดตั้งเซมกอร์ (zemgor) หรือสหภาพแห่งเซมสตโวทั่วรัสเซียเพื่อทหารที่บาดเจ็บและล้มป่วย (All-Russian Union of Zemstvos for the Sick and Wounded Soldiers) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เพื่อช่วยเหลือทหารในแนวหน้าและการจัดหาเสบียงให้กองทัพ แต่การดำเนินงานก็ไม่ราบรื่นนัก เพราะหน่วยงานรัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนและร่วมมือด้วยเจ้าชายลวอฟจึงทรงใช้สภาดูมาสมัยที่ ๔ เป็นเวทีวิพากษ์โจมตีการบริหารจัดการนโยบายสงครามของรัฐบาลจนมีบทบาทโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของเหล่านักการเมืองเสรีนิยมและผู้บัญชาการกองทัพ ทรงเรียกร้องให้สภาดูมามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสงครามกับรัฐบาล และเป็นแกนนำคนหนึ่งในการรวมพลังของสมาชิกสภาที่สังกัดพรรคการเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นกลุ่มก้าวหน้า (Progressive Bloc) ขึ้นเพื่อคอยตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลและกำหนดนโยบายสงครามร่วมกับรัฐบาลกลุ่มดังกล่าวได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษของสภาดูมาขึ้น ๕ หน่วยซึ่งประกอบด้วย หน่วยงาน ด้านการป้องกันประเทศ การสื่อสารคมนาคม เชื้อเพลิงเสบียงและยุทโธปกรณ์และคนอพยพ หน่วยงานเหล่านี้จะประสานงานร่วมกับเซมกอร์เพื่อหนุนช่วยการทำสงครามในแนวหน้าและเพื่อชัยชนะของรัสเซีย
     ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ เสด็จไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง โดยเพิกเฉยต่อคำทัดทานของสภาดูมา และโปรดให้ซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandza Feodorovna)* บริหารราชการแผ่นดินแทนโดยมีนักบวชเกรกอรี เอฟีโมวิช รัสปูติน (Gregory Efimovich Rasputin)* เป็นผู้ถวายคำปรึกษา รัสปูตินทูลแนะให้แต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดเขาซึ่งไร้ความสามารถดำรงตำแหน่งสำคัญใน คณะรัฐบาล งานราชการแผ่นดินจึงอยู่ในสภาวะชะงักงันและเสื่อมเสียจนสมาชิกสภาดูมาเคลื่อนไหวต่อต้านซาร์ข่าวลือที่แพร่กระจายทั่วไปว่ารัสปูตินเป็นชู้รักของซารินาและพระนางทรงเป็นผู้นำของกลุ่มสนับสนุนเยอรมนีที่ เรียกร้องให้รัสเซียเปิดการเจรจาสันติภาพตามเงื่อนไขที่เยอรมนีต้องการก็ยิ่งทำให้พระเกียรติของราชวงศ์มัวหมองมากขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖ เจ้าชายลวอฟทรงเป็นแกนนำสมาชิกสภาส่งจดหมาย เปิดผนึกถึงมีฮาอิล รอดเซียนโก (Mikhail Rodzianko)* ประธานสภาดูมาเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพขึ้นบริหารประเทศ และให้ความเห็นว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อประเทศมหาอำนาจกลาง และแม้จะมีชัยชนะได้ระบบซาร์ที่ดำรงอยู่ก็อาจพังพินาศ
     เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* และการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นบริหารประเทศ สมาชิกสภาหัวก้าวหน้าและผู้นำกองทัพต่างสนับสนุนให้เจ้าชายลวอฟขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาล ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ก็ทรงเห็นชอบด้วย เจ้าชายลวอฟจึงทรงวางนโยบายสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และการนำความสงบและเป็นระเบียบมาสู่สังคม ตลอดจนร่วมทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อไป นโยบายเฉพาะหน้าที่พระองค์ทรงเร่งดำเนินการคือการปฏิรูปที่ดิน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ประกาศรับรองสถานภาพของรัฐบาลเฉพาะกาลเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ส่วนอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีก็ประกาศรับรองในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียตเรื่องนโยบายสงครามและการปฏิรูปที่ดินก็ทำให้เจ้าชายลวอฟต้องปรับคณะรัฐมนตรีโดยให้ฝ่ายสังคมนิยมเข้าร่วมในคณะรัฐบาลด้วย เมื่อเยอรมนีโหมบุกโจมตีรัสเซียจนกองทัพรัสเซียต้องล่าถอยและทหารจำนวนมากหนีทัพ ความพ่ายแพ้ดังกล่าวนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในเดือน มิถุนายน สภาโซเวียตซึ่งพยายามมีบทบาทนำในการปกครองประเทศจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมืองจนนำไปสู่การลุกฮือเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เจ้าชายลวอฟทรงไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้จึงลาออกจากตำแหน่งในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* รัฐมนตรีสงครามได้ดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรีสืบแทนเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ในช่วงที่เจ้าชายลวอฟบริหารประเทศทรงพยายามกราบทูลให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระราชวงศ์เสด็จไปประทับ ณ ต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ เพราะเกรงว่าการเสด็จออกนอกประเทศจะมีผลกระทบเกี่ยวกับสิทธิในราชบัลลังก์ในภายหลัง
     เมื่อพ้นจากอำนาจทางการเมือง เจ้าชายลวอฟทรงปลีกตัวออกจากกรุงเปโตรกราดและหันไปทำงานด้านการเมืองท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม เจ้าชายลวอฟทรงถูกรัฐบาลพรรคบอลเชวิคจับคุมขัง แต่ต่อมาพระองค์ทรงสามารถหลบหนีไปประเทศฝรั่งเศสได้ เจ้าชายเกรกอรี ลวอฟสิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ รวมพระชนมายุ ๖๔ พรรษ



คำตั้ง
Lvov, Gregory Yevgenyevich
คำเทียบ
เจ้าชายเกรกอรี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ
คำสำคัญ
- มิลยูคอฟ, ปาเวล
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- สภาดูมา
- เหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- มหาอำนาจกลาง
- ลวอฟ, เกออร์กี เยฟเกเนียวิช, เจ้าชาย
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคคาเดตส์
- เซมสตโว
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- ทูลา, เมือง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- รอดเซียนโค, มีฮาอิล
- อะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา, ซารีนา
- รัสปูติน, เกรกอรี เอฟีโมวิช
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1861-1925
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๐๔-๒๔๖๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf